วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ฟื้นตำนานช้างปู้ก่ำงาเขียว




'จีระเดช' ทุ่มงบเกือบล้านฟื้นตำนาน 'ช้างปู้ก่ำงาเขียว'- เดลินิวส์ 15-04-2009
จัดพิธีบวงสรวงยิ่งใหญ่ แสง สี เสียง ตระการตา
นายจีระเดช ศรีวิราช นายกเทศมนตรีเมืองดอกคำใต้ จ.พะเยา เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองดอกคำใต้ ได้จัดสรรงบประมาณ 7 แสนบาทเศษ เพื่อดำเนินการก่อสร้างช้างปูนปั้น 4 ตัว ติดตั้งบริเวณข้างลำน้ำร่องช้าง โดยเฉพาะ “ช้างปู้ก่ำงาเขียว” ได้สร้างฐานรองรับไว้ตรงหัวสะพานข้ามน้ำร่องช้าง ด้านข้างของธนาคารกรุงไทย สาขาดอกคำใต้ ซึ่งช้างทั้ง 4 ตัวสามารถพ่นน้ำได้ สำหรับ ช้างปู้ก่ำงาเขียว ที่อัญเชิญมาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 52 พร้อมกับทำพิธีวางศิลาฤกษ์ฐานบัวสไตล์ล้านนาประยุกต์ และอัญเชิญช้างขึ้นประดิษฐานพร้อมกัน สำหรับช้างทั้ง 4 ตัวนั้น ได้ว่าจ้างบ้านจ้างนัก ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ออกแบบสร้าง โดยเฉพาะตัวที่เป็นช้างปู้ก่ำงาเขียวนั้นหากดูเผิน ๆ จะเหมือนกับช้างตัวจริงมาก ส่วนงาช้างนั้น ใช้หิน 5 แผ่นดิน เป็นหินแกรนิตสีเขียวมรกรต ที่นำมาจากแม่น้ำโขง ซึ่งในช่วงเช้าของวันที่ 5 เม.ย.นั้น กลุ่มพลังมวลชนกว่า 1,000 คน ประกอบด้วยกลุ่มแม่บ้าน จาก 26 หมู่บ้านของเทศบาลเมืองดอกคำใต้ กลุ่มช่างฟ้อน และผู้สูงอายุที่จะนุ่งขาวห่มขาว หมู่บ้านละ 30 คน และเยาวชน อีก 200 คน เพื่อมาต้อนรับช้างปู้ก่ำงาเขียวเข้าเมืองดอกคำใต้ อย่างคำโบราณที่ว่า ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง ซึ่งถือเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง โดยจะมีการโปรยข้าวตอกดอกไม้ตามประเพณีตลอดทาง ซึ่งขบวนทั้งหมดจะพร้อมกันที่ตลาดสดเทศบาลเมืองดอกคำใต้ แล้วเคลื่อนขบวนแห่มาที่แท่นประดิษฐานช้างปู้ก่ำงาเขียว ช่วง 4 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม เป็นซอร่องน่าน 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่มเป็นพิธีสงฆ์ และตั้งแต่เวลา 2 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม เป็นการแสดง แสง สี เสียง สืบสานตำนานดอกคำใต้ ส่วนช้างอีก 3 ตัวจะได้ดำเนินการก่อสร้างฐาน รองรับ หลังเสร็จพิธีอัญเชิญช้างปู้ก่ำงาเขียวแล้ว นายจีระเดช กล่าว นายจีระเดช กล่าวต่อว่า ตนมีความตั้งใจที่จะสร้างและทำให้เทศบาลเมืองดอกคำใต้เป็นเทศบาลที่มีคุณภาพ การดำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ของคนดอกคำใต้ สมควรจะได้รับการสืบสานฟื้นฟูและรักษาไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ การสร้างช้างปู้ก่ำงาเขียวเป็นการสร้างถาวรวัตถุที่เป็นภาพของดอกคำใต้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่บ่งบอกวิถีชีวิตความเป็นมาในอดีตของลำน้ำร่องช้าง ตำนานช้างปู้ก่ำงาเขียว เล่าขานสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน มีความผูกพันคู่กับวิถีชีวิตของคนดอกคำใต้มาโดยตลอด ทุกปีในวันที่ 6 เมษายน จะมีการบวงสรวงสืบชะตาลำน้ำร่องช้างเพื่ออนุรักษ์ประวัติในท้องถิ่น และช่วยกันรักษาลำน้ำร่องช้างเอาไว้เป็นความงดงามในการใช้ชีวิตร่วมกันของคนในสังคม และการสร้างคุณค่ายึดเหนี่ยวทางจิตใจร่วมกันผ่านความเชื่อ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์และบ่งบอกถึงอารยธรรม ความเป็นมา วิธีคิด รูปแบบ และคุณค่าของการดำเนินชีวิตของชุมชนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ.

ประวัติดอกคำใต้(ยุคร่วมสมัยกับอาณาจักรพะเยา)

















ตำนานพระธาตุแจ่โหว้ ซึ่งได้กล่าวว่าแต่งขึ้นในปี จุลศักราช 1088 พ.ศ. 2269 เดือน 7 ออก 5 ค่ำ ได้กล่าวถึงพญาลิ้นก่าน ได้ให้ราษฎรในเมืองได้รีบเร่งขุดคูเมืองเพื่อป้องกัน จ๊างปู้ก่ำงาเขียวจากตำนานพระธาตุแจ่โหว้ ประวัติเมืองพะเยา ประวัติเมืองน่าน เวียงห้าวน่าจะก่อสร้างเมืองประมาณ 670 ปี ในช่วงรุ่งเรืองสมัยนั้น เวียงห้าวจึงเป็นเมืองหน้าด่านที่เป็นเส้นทางเดินทัพทำสงครามและติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับอาณาจักรสุโขทัยเวียงห้าวจึงเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญประการหนึ่ง

เวียงฮางหรือเวียงห้าว
ตั้งอยู่ในเขตบ้านปาง ตำบลคือเวียง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เส้นรุ้งที่19 องศา 4 ลิปดา 28 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 0 ลิปดา 59 ฟิลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากเวียงหม้าย 2 กิโลเมตร ห่างจากชุมชนบ้านถ้ำ 3 กิโลเมตร ที่ตั้งของเวียงห้าว อยู่บนเนินเป็นลอนลูกคลื่น มีเนินเขาโดด ๆ ค่อนข้างสูง เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุแจ้โหว้ มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ เพราะขุดคูไปตามภูมิประเทศ ผังเมืองวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีขนาดกว้างประมาณ 900 เมตร ยาว 1,500 เมตรมีคูชั้นเดียวคันดินขนาบสองข้าง คูกว้างประมาณ 18.5 เมตร คันดินกว้างประมาณ 4.6 เมตร คูคันดินมีสภาพค่อนข้างดี ตอนกลางเวียงมีคูน้ำคันดินผ่ากลาง เชื่อมต่อระหว่างคูเวียงด้านเหนือกับด้านใต้ คูกว้างประมาณ 16 เมตรคันดินกว้างประมาณ 8 เมตร มีห้วยร่องขุยไหลผ่านทางทิศตะวันตกและลำน้ำร่องช้างไหลผ่านตะวันออก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยทำทะเบียนค้นจากการสำรวจแหล่งโบราณคดีเวียงฮาง (พย.29-0007) เวียงห้าวน่าจะเป็นเมืองโบราณที่น่าจะมีการก่อสร้างถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจะมีค่อนข้างเล็กมีขอบเขตอยู่เฉพาะบริเวณเนินเขาและไหล่เขาทิศตะวันตก และเป็นลักษณะการอยู่อาศัยเพียงชั่วคราวชุมชนยังคงอาศัยอยู่นอกเมือง ต่อมามีการขยายอยู่อย่างถาวรขึ้นไปจดลำน้ำร่องช้างจากการสำรวจของกองโบราณคดี พบเศษภาชนะดินเผา เครื่องหิน เครื่องเคลือบ เครื่องถ้วยจีนราชวงค์เหม็ง ก็น่าจะมีอายุราว พุทธศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2000-2100) และมีองค์พระธาตุแจ่โหว้ลักษณะศิลปกรรมแบบเจดีย์พื้นเมืองล้านนาแรกเมืองน่าจะมีอายุราวประมาณ พุทธศตวรรษที่ 19

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ดอกคำใต้(ยุคก่อนประวัติศาสตร์)

ในพื้นที่ของอำเภอดอกคำใต้ ทิศตะวันออกเป็นแนวสันเขา ที่ติดต่อกับอำเภอปง จุน และเชียงม่วนที่ติดต่อกับจังหวัดน่านที่มีการผลิตเครื่องมือหินขัดชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า ที่ราบตามแนวสันเขาจึงเป็นแหล่งถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากหลักฐานที่พบในพื้นที่ราบเชิงเขาจากร่องรอยของมนุษย์ที่พบในเขตดอกคำใต้ ทำให้ทราบว่าเป็นดินแดนที่มีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์แห่งหนึ่ง จากการพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน ในระยะเวลา 5,000 ปี ถึง 2,500 ปี มาแล้ว ใช้เครื่องมือในกลุ่ม" เครื่องมือหินขัด " ( Polished Stone Adzes / Axes )ร่องรอยถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคหินใหม่ ที่พบบริเวณเพิงผาถ้ำดูก หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านถ้ำ น่าจะเป็นที่พักชั่วคราว และชำแหละสัตว์โดยนำกระดูกทิ้งในบริเวณปากถ้ำไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันได้มีนักล่าสมบัติและมีบุคคลบางกลุ่มได้ไปขุดค้นทำลายหลักฐานทางโบราณคดีไปอย่างน่าเสียดาย ในยุคนี้มีคนหลายกลุ่มที่เคยอาศัยอยู่บนที่สูง น่าจะเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ในที่ราบริมน้ำ มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำเครื่องปั้นดินเผา จากหลักฐานต่างๆ ทำให้สันนิษฐานว่าน่าจะมีการติดต่อกับเมืองน่านและจังหวัดเชียงรายเพราะมีเครื่องมือหินขัดชนิดเดียวกัน ในยุคนี้ไม่มีหลักฐานที่พอจะเห็นการพัฒนาการต่อมาจนถึงยุคหลัง

แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ดอกคำใต้(ยุคก่อนประวัติศาสตร์)